“ทฤษฎีแมลงสาบ” คู่มือการพัฒนาตัวเองของ Sundra Pichai ซีอีโอคนใหม่ของ Google
แก้ไขล่าสุด: 07.07.2016 : 11:06 โดย: varanyu
---------------------------------------------
ณ เวลานี้ในประเทศอินเดีย เรื่องราวของ Sundra Pichai ซีอีโอหมาดๆ ของ Google ยังคงถูกแชร์อย่างต่อเนื่อง ทั้งอดีตที่น่าสนใจของเขา เรื่องราวในวัยเด็ก การศึกษา ทุกอย่างเกี่ยวกับเขากลายเป็นไวรัล รวมทั้งเรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้ก็เช่นกัน
---------------------------------------------
Sundar Pichai ไม่ได้เก่งแค่เรื่องงาน แต่เขายังเก่งเรื่องการพัฒนาตัวเองอีกด้วย หลายๆ คนคงทราบดีว่าเขาเกิดมาในครอบครัวที่ยากจน แต่ในวันนี้ เขาคือซีอีโอของ Google
ตัวเขาเองเคยพูดถึง “ทฤษฏีแมลงสาบ” ที่เขาใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต และมันก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เขายิ่งใหญ่อย่างทุกวันนี้ ลองมาติดตามไปพร้อมๆ กัน
---------------------------------------------
ลองจินตนาการว่าคุณนั่งอยู่ในร้านอาหาร อยู่ๆ ก็มีแมลงสาบจากซอกหลืบไหนสักแห่งบินมาเกาะที่ผู้หญิงคนหนึ่ง เธอจึงเริ่มกรีดร้องทันทีที่เห็นมัน
หลังจากนั้นเธอก็เริ่มกระโดดโลดเต้น หวังว่าแมลงสาบตัวนั้นมันจะเลิกเกาะติดเธอเสียที มือทั้งสองข้างก็พยายามปัดมันออก แต่แมลงสาบเจ้ากรรมดันอยู่นิ่งๆ ซะอย่างนั้น
ปฏิกิริยาของผู้หญิงคนนั้นเริ่มทำให้ทุกคนที่นั่งร่วมโต๊ะกับเธอต้องประสาทเสียไปด้วย
และในที่สุด แมลงสาบตัวนั้นมันก็บินออกไปจากเธอ
แต่ลงไปจอดที่ไหล่ของผู้หญิงอีกคนในกลุ่ม แล้วผู้หญิงคนนั้นก็เต้นแร้งเต้นกาเหมือนผู้หญิงคนแรกไม่มีผิด ความโกลาหลมาเยือนโต๊ะนั้นทันที
---------------------------------------------
เมื่อเด็กเสิร์ฟสังเกตเห็น เขาเคลื่อนที่เข้ามาอย่างรวดเร็วเพื่อหวังจะระงับเหตุการณ์ พอดีกับที่แมลงสาบเจ้าปัญหามันบินมาเกาะที่ผ้ากันเปื้อนของเขาพอดี
แต่แทนที่จะสะบัดผ้าออก เขากลับยืนนิ่ง และคอยสังเกตการเคลื่อนที่ของแมลงสาบตัวนั้น ซึ่งมันกำลังค่อยๆ เดินขึ้นมาบนเสื้อเชิ้ตของเขา
จนกระทั่งเริ่มจับทิศทางการเดินของมันได้ เขาจึงคว้ามันไว้ และขว้างออกไปที่นอกร้านอาหาร
---------------------------------------------
คำถามที่น่าสนใจคือ “แมลงสาบ” คือต้นตอของความโกลาหลหรือเปล่า?
---------------------------------------------
ถ้าใช่ ทำไมเด็กเสิร์ฟจึงยืนนิ่งๆ และสามารถจัดการกับมันได้อย่างละมุนละม่อม
นั่นก็เป็นเพราะว่ามันไม่เกี่ยวกับแมลงสาบ มันคือความสามารถในการรับมือกับสิ่งที่เข้ามารบกวน ซึ่งในที่นี้ก็คือแมลงสาบ
---------------------------------------------
เทียบกับเหตุการณ์ในชีวิตจริง มีหลายๆ อย่างที่ทำให้เราหัวเสีย เช่น เสียงบ่นของคนรอบตัว หรือเสียงก่นด่าของเจ้านาย ซึ่งจริงๆ แล้วเราเองต่างหากที่เลือกได้ว่าจะรู้สึกอย่างไรกับสิ่งเหล่านั้น ถ้าเราหงุดหงิดกับมัน นั่นก็เป็นเพราะเราเลือกเอง ไม่ใช่เพราะสิ่งเหล่านั้นทำให้เรารู้สึกแย่
---------------------------------------------
มันไม่ใช่รถที่ติดอยู่บนท้องถนนที่ทำให้เราอารมณ์เสีย แต่เป็นความสามารถในการรับมือของเราเองต่างหากที่ทำให้เราหัวเสียกับมัน
มันคือปฏิกิริยาของเราที่มีต่อปัญหาต่างหากที่สร้างความโกลาหลให้กับชีวิตของเรา และสิ่งที่ Sundra เรียนรู้จากเรื่องนี้คือ เขาเข้าใจว่าควรมีปฏิกริยากับปัญหาต่างๆ ในชีวิตอย่างไร
---------------------------------------------
เขาจะรับผิดชอบกับมัน ไม่ใช่แค่ react แต่เป็น respond
สองอย่างนี้ไม่เหมือนกัน เพราะ reaction มาจากสัญชาตญาณ ในขณะที่ response มาจากการคิดใคร่ครวญเป็นอย่างดี เพื่อควบคุมสถานการณ์ไม่ให้บานปลายเกินรับมือ เพื่อหลีกเลี่ยงการทำให้อะไรๆ มันแย่ลง เพื่อป้องกันการตัดสินใจผิดพลาดเพราะความโกรธ ความกังวล ความเครียด หรือความรีบเร่ง
---------------------------------------------
นั่นคือวิธีการที่ดีที่สุดในการทำความเข้าใจชีวิต และเป็นสิ่งที่อยู่ในใจของผู้ที่ดูแล Google หรือจะพูดให้ดีกว่านั้น มันอาจจะหมายถึงโลกอินเทอร์เน็ตก็ได้
---------------------------------------------
ที่มา : Mensxp และ “ทฤษฎีแมลงสาบ” คู่มือการพัฒนาตัวเองของ Sundra Pichai ซีอีโอคนใหม่ของ Google
รับข้อมูลดีๆ จากเรา โดยการกดรับเราเป็นเพื่อน
⤵⤵⤵⤵⤵⤵⤵⤵⤵⤵⤵⤵⤵⤵⤵⤵⤵
1.line@สำนักสื่อธรรมะ http://bit.ly/2rI6XeN
2.เพจสำนักสื่อธรรมะ http://bit.ly/2peWzv1
3.blogger สำนักสื่อธรรมะ http://bit.ly/2qUsVaq
4.youtube สำนักสื่อธรรมะ https://www.youtube.com/channel/UCORUiz1Rc_tivGScG3-F9iw